บทเรียนจากหนังสือ The Go Giver
หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินมาบ้างแล้วว่า “ถ้าเราอยากมีอะไร ก็จงให้สิ่งนั้นแก่คนอื่นก่อน” แต่ในห้วงความคิดลึก ๆ อาจมีเสียงเล็ก ๆ คอยถามด้วยความสงสัยว่า “จริงหรือ? เราจะให้คนอื่นได้อย่างไร ในเมื่อเราเองก็ยังไม่มี” บางคนถึงขั้นปฏิเสธไปเลยว่า “จะบ้าเหรอ! ยิ่งให้คนอื่น เราก็ยิ่งจนสิ”
ผมเองก็เคยได้ยินเรื่องราวของการให้มาก่อน จากเพื่อน จากรุ่นพี่ จากครูบาอาจารย์ และก็เห็นด้วยว่าบุคคลเหล่านั้นได้ใช้ชีวิต ทำงาน หรือทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จในระดับที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง แต่คำถามก็คือว่า “เราจะให้อะไร ให้เท่าไหร่ ให้เมื่อไหร่ และให้อย่างไร ถึงจะประสบความสำเร็จ?”
วันนี้ผมจะมาแบ่งปันบทเรียนจากหนังสือ “The Go Giver” เพื่อค้นหาว่าอะไรคือความลับเบื้องลึกเบื้องหลังความสำเร็จของการให้
หนังสือเล่มนี้เป็นแนวเรื่องสั้นที่เล่าเรื่องราวผ่านตัวละครชื่อ “โจ” พนักงานบริษัทที่มุ่งมั่นแสวงหาความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ก็ยังไม่เข้าใกล้ความสำเร็จเสียที จนกระทั่งได้รู้จักและพบกับมหาเศรษฐีที่จะสอนให้เขาได้รู้จักเคล็ดลับความสำเร็จ 5 ข้อด้วยกัน โดยมีเงื่อนไขว่าโจจะต้องนำบทเรียน 1 ข้อที่ได้รับในแต่ละวันนั้นไปปฏิบัติทันที จึงจะสามารถเรียนบทต่อไปได้ และบทเรียน 5 ข้อนั้นได้แก่:
- กฎแห่งคุณค่า
“ค่าที่แท้จริงของตัวคุณวัดได้โดยการดูว่า มูลค่าของสิ่งที่คุณมอบให้ไปนั้น สูงกว่าเงินที่คุณได้รับมามากแค่ไหน” - กฎแห่งค่าตอบแทน
“รายได้ของคุณตัดสินโดยดูว่า คุณให้บริการผู้คนจำนวนมากแค่ไหน และคุณบริการพวกขาได้ดีเพียงใด” - กฎแห่งอิทธิพล
“คุณจะมีอิทธิพลมากเพียงไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของผู้อื่นก่อนตัวเองมากแค่ไหน” - กฎแห่งความจริงใจ
“สิ่งที่ทรงคุณค่าที่สุดที่คุณจะต้องมอบให้คนอื่น ๆ ก็คือตัวคุณเอง” - กฎแห่งการรับ
“กุญแจสู่การให้อย่างมีประสิทธิภาพ คือการเปิดใจกว้างที่จะรับ”
กฎ 5 ข้อเหล่านี้คือสิ่งที่โจนำไปรับใช้ในชีวิตส่วนตัวและการทำงานจนสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างและก่อตั้งบริษัทที่ประสบความสำเร็จในที่สุด ลองย้อนกลับมาคิดถึงตนเองว่าเราจะนำบทเรียน 5 ข้อนี้ไปใช้อย่างไร? ลองทำแบบโจดูก็ได้ หยิบบทเรียน 1 ข้อและนำไปใช้ใน 1 วัน
นอกจากกฎทั้ง 5 ข้อแล้ว ในหนังสือยังมีบทสนทนาอีกหลายอย่างที่จะทำให้เราเข้าใจบทเรียนต่าง ๆ ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และจะช่วยให้เราไขข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับการให้ เช่น
- เราจะให้อะไร?
ถ้าคิดว่าไม่มีอะไรจะให้ก็ให้ตัวเรา ให้ความจริงใจ ให้ความซื่อสัตย์ต่อคนรอบข้าง ให้ความช่วยเหลือแก่เขาให้มากที่สุดเท่าจะทำได้ ถ้ามีธุรกิจก็ให้สินค้ามากกว่าที่เงินลูกค้าจะซื้อได้ ถ้าขายบริการก็ให้ประสบการณ์ที่ลูกค้าไม่สามารถหาได้จากที่อื่น - ให้เท่าไหร่?
ให้มากกว่าผลตอบแทนที่เราจะได้รับ อย่าคิดว่าต้องได้ผลตอบแทนก่อนจึงค่อย ๆ เพิ่มคุณภาพและปริมาณการให้ แต่จงให้ก่อน ให้มากกว่าที่ผู้รับคาดหวัง - ให้เมื่อไหร่?
ยิ่งไม่มีย่ิงต้องให้ ถ้ามีเพียงพอแล้วก็อย่าหยุดให้ จงรักที่จะให้ตลอดเวลา รักที่จะสร้างประโยชน์และคุณค่าแก่ผู้อื่นอยู่เสมอ - ให้อย่างไร?
ให้อย่างดีที่สุด ให้สิ่งที่เราชอบ ให้แก่คนจำนวนมาก ให้ความรู้ที่จะสร้างผู้ให้ขึ้นมาต่อยอดการให้อย่างไม่สิ้นสุด และที่สำคัญคือต้องรู้จัก “รับอย่างขอบคุณ” จากคนที่ให้เราด้วย
ความสำคัญของการให้นี้ มิได้จำกัดอยู่แต่ในแวดวงพัฒนาตนเองและธุรกิจเท่านั้น แม้แต่คำสอนทางศาสนาก็ยังเน้นหนักถึงความสำคัญของการให้และการมอบกุศลทานให้แก่กันและกัน การให้นั้นจะสร้างสังคมที่น่าอยู่ มอบความหวังแก่มนุษยชาติ กำจัดความเห็นแก่ตัวอันเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งคุณลักษณะที่เลวร้ายในตัวเรา การให้ไม่ได้ทำให้สิ่งที่เรามีบกพร่องลงแต่กลับเพิ่มพูนขึ้นอีกต่างหาก ผลตอบแทนที่ได้รับทันทีหลังจากการให้คือความอิ่มเอมและความสงบภายในหัวใจ
ดังนั้นนับตั้งแต่วันนี้ไป ลองสำรวจดูว่าอะไรคือสิ่งที่เรามี แล้วมาเป็นผู้ให้กันเถอะ
สรุปประเด็นดีมาก น่าอ่าน